วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แม่ญิงล้านนา

แม่ญิงล้านนา

โคลงสี่สุภาพ

เสียงซึงขับสะล้อ ซอครวญ

กะโลง คร่ำ คร่าว จ๊อย*หวน กาพย์เจี้ย*

ล้านนาถิ่นไทยวน โยนก

เจ็ดศตวรรษห่อนเปลี้ย เปลี่ยนสร้อยมังราย

หลอมพงศ์ไตเผ่าลื้อ เลือดผสม

เคียงไหล่ลัวะกลืนกลม ร่วมข้าง

หมายเสกรัฐอุดม คติใหม่

ลืมอดีตมอญรุ่งมล้าง โรจน์สิ้นมลายสูญ

มีเพียงเชียงใหม่แพร้ว นครพิงค์

ขัณฑ์ขอบสีมาระมิงค์ เขตไร้

อาณาสุดคว้าอิง แขนโอบ

เครือญาติเขยสะใภ้ ผูกไว้แสนแขวง

การเมืองมักเกี่ยวข้อง อิสตรี

ยอดขัติยนารี มากแม้น

พลีกายแลกชีวี รัฐไถ่

ปกปักพิทักษ์แคว้น ขื่นน้ำตาขม

จารึกนามฝากหล้า รานี

จิรประภา*เทวี วิสุทธิ์*ท้าว

ดารารัศมี*ศรี เดือนโศก

เชลยรักนารีจ้าว สละแล้วจอมนาง

แม่ญิงมีส่วนสร้าง ศาสนา

สานสืบแรงศรัทธา รุ่งร้อย

ภาระราชมารดา พลไพร่

ตระหนักเพศผู้น้อย ทุ่มเนื้อนาบุญ

มหามาตาแม่เจ้า คอยประคอง

ขับเคลื่อนบัลลังก์รอง เกษ-แก้ว*

เทวีแม่ลูกสอง* เสาหลัก

นานจวบเป็นย่าแล้ว หยัดค้ำพุทธคุณ

เดือนเต็มดวงหยาดแต้ม โคมดาว

มหาชาติชูชกกราว สวดก้อง

น้ำตาแม่ญิงพราว ปีติ

เย็บปักผ้าธรรมป้อง ปลาบปลื้มยี่เป็ง*

แม่ญิงพลีเด็ดเส้น ผมสยาย

มัดผูกคัมภีร์ถวาย สอดร้อย

ชาติหน้าเกิดเป็นชาย ได้บวช เรียนเฮย

นั่งนึกบุญข้าน้อย หมั่นร้อยสายสยอง*

พิธีกรรมก่อเกื้อ กโลบาย

แยกเพศชัดหญิงชาย ต่างชั้น

แรงผลักแม่ญิงหมาย บุญมุ่ง

ชีวิตทั้งหมดนั้น อุทิศท้นเพียงธรรม

ตีนจก*ชายผ้าซิ่น ทอมือ

แผ่นโลกทั้งผืนคือ แผ่นผ้า

ลายขิด*เพศหญิงหรือ ใครลิขิต

เติมแต่งมิรู้ล้า ต่อร้อยตำนานเรียง

ยลงามยามฟ้อนเล็บ เงาไฟ

งามยิ่งฟ้อนเทียนไสว สว่างฟ้า

หลงมองแม่สาวไหม ละไมละเมียด

เพลงปี่จุมแผดจ้า เพ่งเจ้าใจภิรมย์

สาวเหนือถูกเหยียดสิ้น ศักดิ์ศรี

ไหวหวั่นกายจิตพลี ง่ายแท้

ใสซื่อเปรียบมาลี เมืองป่า

เพียงพร่ำน้ำคำแพ้ เพลี่ยงแล้วเล่ห์ชาย

แท้จริงหญิงใช่ไร้ ปัญญา

หนักแน่นมนัสา อดกลั้น

เพราะโลกเปลี่ยนเร็วรา พิปริต

รักเช่นเครือฟ้านั้น มอดไร้ความหมาย

ฤๅโลกไม่ดื่มซึ้ง จินตญาณ

จึงไป่รู้รสหวาน รักแท้

ศรัทธาดั่งบัวบาน ถูกบิด เบือนเฮย

ลงโทษแม่ญิงแล้ ขึด*ย้ำผิดผี

วันนี้เราแกร่งแล้ว ล้านนา

หวานนอกแข็งหัทยา นุ่มเนื้อ

มาเถิดแม่ญิงมา ยืนหยัด

ปันรักไว้โอบเอื้อ กอบสู้โลกกลี.

คำอธิบาย

กะโลง คร่ำ คร่าว จ๊อย* กะโลง คือโคลง ส่วน คร่ำ คร่าว และจ๊อย เป็นชนิดของคำประพันธ์ประเภทต่างๆ ที่ใช้ขับลำนำกวีประกอบดนตรีของภาคเหนือ

กาพย์เจี้ย* นิทานเรื่องเล่าสืบต่อกันมา

จิรประภา* พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี ครองราชย์ ระหว่าง พ.ศ.๒๐๘๘-๒๐๘๙

วิสุทธิ์* นางพญาวิสุทธิราชเทวี ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๒๑๐๗-๒๑๒๑

ดารารัศมี* พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕

เกษ-แก้ว* พระเมืองแก้ว หรือพญาแก้ว พระเชษฐาธิราช ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๓๘-๒๐๖๘ และพระเมืองเกษเกล้า หรือพญาเกษ พระอนุชาธิราช ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๖๘-๒๐๘๑

เทวีแม่ลูกสอง* หมายถึงพระนางโป่งน้อย มเหสีของพญายอดเชียงราย (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๓๐-๒๐๓๘) พระราชมารดาของพญาแก้ว-พญาเกษ กษัตริย์สองพี่น้องผู้มีคุณูปการต่อวงการพระศาสนาด้วยมีพระราชมารดาคอยผลักดันอยู่เบื้องหลัง ศิลาจารึกทุกหลักสมัญญานามพระนางว่า มหาเทวีแม่ลูกสอง อันสะท้อนถึงความใกล้ชิดของประชาชนที่มีต่อราชวงศ์

ยี่เป็ง* หมายถึงประเพณีลอยกระทงเดือนสิบสอง ภาคเหนือนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าภาคกลางสองเดือน พฤศจิกายนจึงกลายเป็นเดือนยี่ มีประเพณีการฟังเทศน์มหาชาติกัณฑ์เวสสันดรในคืนเพ็ญ และผู้หญิงจะเตรียมปักผ้ารองคัมภีร์ถวายเป็นพุทธบูชาตามวัดต่างๆ

สายสยอง* การร้อยผูกคัมภีร์ใบลานของชาวล้านนาโบราณ ต้องใช้วิธีเด็ดเส้นผมของผู้หญิงสอดร้อยใบลานแต่ละผูกแทนเส้นเชือก (ตามหลักวิทยาศาสตร์นั้นเส้นผมมีความหยุ่นคล้ายเอ็น ทำให้ใบลานไม่แตก พลิกผูกง่าย และคงทนกว่าเส้นเชือกทั่วไป) เรียกว่าพิธี สายสยองเชื่อกันว่า สตรีนางใดปรารถนาที่จะเกิดมาเป็นชายชาติหน้า ต้องหมั่นร้อยคัมภีร์ อุทิศพลีเส้นผม พร้อมอธิษฐานจิต

ตีนจก* คือส่วนล่างของเชิงผ้าซิ่น ผ้าทอของภาคเหนือแบ่งออกเป็นสามส่วนโดยเปรียบเทียบกับอวัยวะ คือส่วนบนใช้พันบริเวณเอวเรียก หัวซิ่น ส่วนลำตัวที่ใช้นุ่งเรียก กลางซิ่น และส่วนล่างเรียก ตีนซิ่นอันเป็นส่วนที่นิยมปักลวดลายพิเศษงดงามกว่าส่วนอื่นเรียกโดยรวมว่า ตีนจก ซึ่งชาวเหนือมีความเชื่อว่าผ้าซิ่นแต่ละผืนมีวิญญาณ และจะไม่นุ่งสลับด้านกันระหว่างหัวซิ่นและตีนซิ่น

ลายขิด* คือกรรมวิธีทอผ้ายกดอกให้นูนขึ้น มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการทอผ้าพื้นธรรมดา

ขึด* ชาวล้านนาเชื่อว่าหากใครประพฤติไม่ดีขัดต่อธรรมชาติและศีลธรรม ฟ้าดินจะลงโทษเรียกว่า ตกขึด

1 ความคิดเห็น: