วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

จอมนางจามเทวี

จอมนางจามเทวี

โคลงสี่สุภาพ และกาพย์ยานี ๑๑

๑.

มือแม่หมายมุ่งสร้าง หริปุญช์*

มือแม่คือนาบุญ เบิกฟ้า

มือแม่มั่นค้ำจุน ใจโลก

มือแม่ลูกเติบกล้า อุ่นเกล้าเนาเกษม

แผ่นดินมีดวงตา และแผ่นฟ้ามีดวงใจ

ตาแม่คือดาวใส ใจไสวดังดวงเดือน

หยาดแสงวาวมณี และหยดสีสว่างเหมือน

ความดีประดับเตือน คอยตอกย้ำทั่วแดนไตร

จากนี้และอีกนาน โลกต้องจารไว้กลางใจ

รานี ณ แคว้นไหน สถิตในใจประชา

ดั่งจามเทวี ศรีหริปุญชยา*

มือแม่สร้างเมืองมา กล่อมล้านนานิทรารมย์

๒.

ทุกฉากชีวิตล้วน ปริศนา

มนมืดความเป็นมา มิแจ้ง

ผองชนมั่นศรัทธา ทูนเทิด

ปูมอดีตใดไป่แย้ง แม่เพี้ยงมิ่งเมือง

จอมนางจามเทวี จอมนารีศรีลำพูน

ชื่อเสียงไป่สิ้นสูญ ชนเทิดทูนท้นศรัทธา

ปรัศนีชาติกำเนิด ยังก่อเกิดปริศนา

มืดมนความเป็นมา มิรู้ว่านางคือใคร

เป็นนางกลางบัวบาน ถูกลอยธารแท้หรือไฉน

เป็นศิษย์ฤๅษีไพร พ่ออินตา เพื่อนวานร

เทวีแห่งจามปา คลาดนคราคลาสิงขร

หน่อเนื้อเชื้อหริธร พงศ์หริเทพแห่งศรีวิชัย

ฤๅเป็นเจ้าหญิงแขก จันทรคุปต์สืบวงศ์ไข

ฤๅเป็นธิดาสะใภ้ จากแดนใต้รัตตปุรี

ฤๅเป็นแม่หญิงมอญ หมายหมั้นสมรภิเษกศรี

สวาทไว้แด่เทวี อิตถีละโว้ เจ้าชายราม

สวามีนางคือใคร อยู่หนไหนถูกใครห้าม

ถูกขังหรือขลาดขาม ไยห่อนตามมาหริภูญช์*

ลาบวชหรือหย่าร้าง ช่างเลือนรางชื่อสาบสูญ

ลูกแฝดเฝ้าเกื้อกูล โศกาดูรสิ้นบิดา

เป็นแม้แม่มิ่งเมือง ไป่ปลิดเปลื้องแสนปริศนา

พิศวาสแห่งขุนละว้า นามวิลังคะคงคลุมเครือ

รักแท้ท้นหฤทัย หรือมีนัยการเมืองเจือ

พุ่งสะเหน้าแลกเลือดเนื้อ นั่นฤๅเพื่อพิสูจน์ภักดิ์

คำสาปจากขุนกร๋อม * กรีดใจตรอมอกกระอัก

ก่อนตายขอแช่งชัก แม้ไม่รักอย่ารุ่งเรือง

ลำพูนต้องอาถรรพณ์ พันปีผันกลายเป็นเมือง

เถื่อนโทษไม่ประเทือง ทั้งฝืดเคืองปวงปัญญา

เหลือแต่จามเทวี หนึ่งนามนี้ยังเลอค่า

เป็นยิ่งกว่าเทพา โพธิสัตว์บนชั้นสรวง

สัญลักษณ์แห่งความดี ยอดกษัตรีย์ศรีปราชญ์ปวง

วิญญาณแม่คงหวง เมืองลำพูน ณ แดนสวรรค์

วีรกรรมประจัญประจญ รวมชนเผ่าร้อยชาติพันธุ์

ขอมข่าลัวะรามัญ เม็งม่านขมุแขกพยู่ไต

ปราบชนอนารยะ ให้เลิกละผีพราหมณ์ไสย

พุทธศาสน์ประกาศไกล ลำแสงไสวปฐมกาล

บัดนี้เมืองถูกสาป เหมือนเมืองบาปเมืองทางผ่าน

เมืองพระแต่ถูกผลาญ โบราณสถานไม่เหลือรอย

มีค่าแต่ไร้ค่า เมืองนิทราเฝ้ารอคอย

ปาฏิหาริย์อันเลื่อนลอย วีรสตรีไม่มีแล้ว.

คำอธิบาย

หริปุญช์ หริปุญชยา หริภูญช์* ทั้งสามคำนี้คือคำเดียวกัน หมายถึงเมืองหริภุญไชย ในจารึกและคัมภีร์โบราณมีการเขียนแตกต่างกันหลายแบบ

กร๋อม* หรือ กรอม เป็นคำที่คนไตที่อยู่ตอนเหนือ เรียกขานชนพื้นเมืองกลุ่มขอม-มอญ-ละว้า ที่อยู่บริเวณใต้กว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น