วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แม่ญิงมอญ

แม่ญิงมอญ

โคลงสี่สุภาพ

ลอยเรือมาแต่หล้า เมืองตะเลง*

ตรละแม่*ขับครวญเพลง ปี่ฆ้อง

ไกลคามจิตครื้นเครง จะเข้กล่อม

พิณพาทย์เปิงมาง*พร้อง โห่ร้องมโหรี

นอนกลางดินกอดด้าว กลึงดิน

ขุมทรัพย์แปลงจากสิน เสกปั้น

โชกโชนเชี่ยวชาญชิน ศิลปะ

ไหโกศคนโทชั้น เลิศแม้นปฏิมา

อารยันเยือนสู่อ้อม อุษาคเนย์

เรือเทียบริมทะเล ทวีปกว้าง

กลืนชนเผ่าพื้นเพ ผีป่า

กอบชาติแปงเวียงร้าง วาดรุ้งทวารวดี*

ฉายากรีกแห่งเบื้อง บูรพา

เรืองรุ่งร้อยศาสนา ส่องล้ำ

ศูนย์รวมพุทธปรัชญา พราหมณ์พรต

ยิ่งใหญ่ยิ่งตอกย้ำ หยัดด้วยแดนขยาย

สาละวินไหลเชื่อมข้าม ชี โขง

ป่าสัก เจ้าพระยาโยง ไป่ยั้ง

อิระวดีตราบสะโตง ระมิงค์ระมาด

ปิง น่าน วัง ยม รั้ง เหนี่ยวไร้แรงขืน

เคยเยือนมอญพี่น้อง เครือญาติ

เวียงหริภุญช์ผงาด พร่างรุ้ง

หงสาวติ*นิราศ แรมตัก

ลอยหะโมด*เรือเชื่อมคุ้ง ประทีปข้ามสองนคร

สายธารยังเปลี่ยนเส้น ทางไหล

พังพาบกรุงเกริกไกร กลบพื้น

รามัญวูบดับไหว สุวรรณทวีป

ดินฉ่ำน้ำค้างชื้น ชุ่มด้วยชลนา

กลายเป็นมอญสิ้นชาติ สูญชน

ไร้แผ่นดินแรมพล เผ่าร้าง

พรายพลัดท่ามหมู่คน ไทย-ม่าน

ไหโกศลอยเคว้งคว้าง ดับเส้าดินสูญ

แม่ญิงมอญซ่อนผ้า เสาหงส์

สัญลักษณ์รามัญวงศ์ ผูกไว้

เปลือยผมปลิดใจปลง สังเวช

ตรละแม่ขับเพลงไม้ ดึกไห้เดือนหวน

ท้ายครัวยังชีพด้วย สมถะ

ข้าวแช่อันโอชะ ใช่เว้น

ปลากริม ซ่าหริ่มคละ ข้าวควบ*

ลอดช่อง ขนมเส้น* แลกน้ำมือนาง

มะเมีย*เคยเกลี่ยเส้น เกศสยาย

เช็ดบาทยอดรักถวาย สวาทช้ำ

หญิงมอญมอบมานหมาย หทัยมุ่ง

ทูนเทิดความรักล้ำ มาดไร้เมืองแรม.

คำอธิบาย

ตะเลง* หรือเมืองตะเลงคณา อยู่ในอินเดียตอนใต้ เป็นกลุ่มชนชาวอินเดียยุคแรกๆ ที่อพยพมาตั้งรกรากในสุวัณณภูมิ เมื่อผสมผสานกับคนพื้นเมืองจึงกลายเผ่าพันธุ์เป็นมอญ หรือรามัญ

ตรละแม่* ภาษามอญใช้คำว่า ตรละแม่ - ตรละพ่อ นำหน้าชื่อบุคคลชั้นสูง

เปิงมาง* กลองหนังของชาวมอญ ใช้ตีร่วมกับตะโพนในวงปี่พาทย์ ต่อมาชาวล้านนาได้รับวัฒนธรรมด้านเครื่องดนตรีชนิดนี้ไปใช้

ทวารวดี* เป็นชื่อสันนิษฐานของนักโบราณคดี ใช้เรียกอาณาจักรเริ่มแรกในสุวัณณภูมิบริเวณตอนกลางของประเทศไทยปัจจุบัน เชื่อกันว่าประชากรส่วนใหญ่ของอาณาจักรเป็นชาวมอญ ต่อมาค่อยๆ ขยายอาณาเขตไปทั่วทุกภูมิภาค

หงสาวติ* คือเมืองหงสาวดี ศูนย์กลางอารยธรรมมอญฟากตะวันตกเมื่อครั้งอดีต ในขณะที่หริภุญไชย (ลำพูน) คือศูนย์กลางอารยธรรมมอญฟากตะวันออก

ลอยหะโมด* หะโมด หรือหะมด เป็นภาษามอญ หมายถึงดวงไฟ (คือโขมดในภาษาเขมร) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เคยเกิดอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ในหริภุญไชย ประชาชนได้หนีอพยพไปอยู่หงสาวดีนานถึง ๖ ปี จากนั้นจึงกลับมาตุคาม ยามฤดูน้ำหลากชาวมอญสองเมืองต่างคิดถึงกัน พลันเกิดประเพณีลอยดวงไฟใส่เรือสำเภาล่องผ่านแม่น้ำปิงจากหริภุญไชยตัดไปสู่แม่น้ำสายต่างๆ จนถึงญาติพี่น้องชาวมอญในหงสาวดี ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายท่านเชื่อว่านี่คือต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทง

ข้าวควบ* เป็นภาษาเหนือ ภาคกลางเรียกข้าวเกรียบว่าว

ขนมเส้น* ภาคกลางเรียกขนมจีน

มะเมียะ มะเมียะเป็นชาวมอญ มาจากเมืองมะละแหม่ง ซึ่งผู้หญิงมอญมีวัฒนธรรมการสยายเส้นผมเช็ดเท้าสวามี เห็นได้จากรูปพระนางพิมพายโสธราสายเกศาแทบพระบาทเจ้าชายสิทธัตถะตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรม (ผนวช) ปรากฏในภาพจำหลักใบสีมาเมืองฟ้าแดดสงยาง กาฬสินธุ์ ศิลปมอญทวารวดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น