วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

แม่ญิงยอง

แม่ญิงยอง

โคลงสี่สุภาพ

ไตเมิงยอง*แตกเหย้า แยกเมือง

สองย่านม่าน*ไทยเคือง เคลื่อนย้าย

อพยพรากหญ้าเนือง นองตรลบ

ขืนปาดน้ำตาป้าย เลือดข้นปนโขง

เคยเป็นขี้ข้าม่าน นานครา

ปลดแอกจากทาสา เปลี่ยนเจ้า

มานถวิลถิ่นฐานมา เมืองใหม่

คลุกฝุ่นคลุ้งศพเคล้า ครอบทิ้งเทครัว

หมายใจจักพลิกหล้า ลำพูน

เมืองเก่ายิ่งใหญ่สูญ สาบฟื้น

แปงเวียงก่องไวกูณฐ์ กาวิละ*

เกณฑ์เผ่าไตลื้อ*รื้น ลุ่มน้ำยองสลาย

ไผไป่ยอมพ่ายให้ โกนหัว

ไผอยากปลดแอกตัว ไป่ต้อง

ฝูงหงส์ห่อนเกรงกลัว เกลี้ยงเกศ

ยังแต่หมู่ไพร่พร้อง เสี่ยงแพ้ยอมเชลย

เปลี่ยนใจเกณฑ์หมู่เจ้า ฝืนจำ

กาวิละกลับคืนคำ เลือกข้าง

หมายคนค่าควรสำ- คัญกว่า

ระลอกคลื่นหัวโล้นคว้าง เคลื่อนข้ามพนาไคล

ดุจภาพกองทัพริ้ว ขบวนสงฆ์

บ้างปลดชีพปลิดปลง จริตบ้า

ที่เหลือทรุดใจลง เยี่ยงทาส

ร่วม เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง*

เนืองนองทุกย่านล้น ล้านนา

ขนัดแน่น เทย เมย ทา ทุ่งน้ำ

อิง ยม กก สาร สา ลี้ น่าน

ขาน ข่า ปิง กวง ค้ำ เขตคุ้ง คง โขง

ครองกายกลางหมู่เคล้า คนเมือง

แรกค่าเพียงเศษเฟือง จักรน้อย

ร้อยปีเริ่มรุ่งเรือง อิสระ

แสนจักรเลิกต่ำต้อย ต่อสู้สิทธิ์เสมอ

ก่อนเคยแอบลอบอู้ กำยอง

ท่ามเผ่าครอบครัวผอง เพื่อนแท้

ภาษาแม่หยิ่งผยอง ยองผงาด

สลวยสละมิพ่ายแพ้ เพริศเพี้ยงเสียงสรรค์

สาวเอยสวยไป่สิ้น ป่าซาง

หอมกลิ่นซิ่นยามสาง ปั่นฝ้าย

แดนดินถิ่นงาม นาง- งามยิ่ง

ยกดอก*ดูคลับคล้าย ดอกฟ้ายูงรำแพน

แม่ญิงยองย่างเยื้อง กรายยาม

สงบเสงี่ยมชวนพิศงาม สง่าเพี้ยง

ครองเรือนอยู่ในความ เรียบง่าย

พันเกศเกล้าเกลาเกลี้ยง เก็บเผ้าเกลียวผม

เสียงกี่กระตุกเส้น สายกรอ

น้ำจิตน้ำใจหนอ หนักแท้

ทานทนถักผ้าทอ เงินถูก

สานสอดลอดลายแล้ แลกด้วยวิญญาณ

แม่ญิงยองกอบกู้ เอกลักษณ์

คืนจากซากกองปรัก ปลิดร้าง

ผิเพียงร่วมทอถัก ผ้าวิจิตร

ยังวาดยังหวังสร้าง ร่วมฟื้นวัฒนธรรม

คืนสู่ผืนแผ่นเบื้อง บรรพคาม

เมืองแม่บัดนี้ทราม เสื่อมเศร้า

มิเหลือร่องรอยงาม รอลูก

สานสืบศิลป์รุ่งเร้า เชื่อมรุ้งสองปุรี

สองร้อยปีห่างคล้อย คะนึงหา

แดนสิบสองปันนา ไป่สิ้น

ลำพูนฝากรักมา เมืองแม่

มหิยังคณ์*ครวญดิ้น ด่าวแม้นม่านครอง

ทางเดียวที่พี่น้อง ยองไต

จากเขตปันนาไศล จักข้าม

เล็ดลอดสู่แดนไทย ไร้โทษ

ทหารม่านห่อนหวงห้าม เพศผู้บรรพชา

พระหนุ่มเณรน้อยร่วม รอนแรม

หญิงห่มเหลืองโดดแซม สลับด้วย

ปลอมปนฝ่าชายแมม มอมฝุ่น

ยองสู่ยองไป่ม้วย นึ่งข้าวคอยนาง

ภาพหลังครั้งเก่าห้วง โกนหัว

กลายลับกลับสลัว เจิดจ้า

ตำนานมิจางมัว จรใหม่

วัฏจักรไป่รู้ล้า รอบแล้วรอบไฉน

เคยยลชินธาตุเจ้า จอมยอง*

นวลเด่นบดแดหมอง บัดนี้

ฉางข้าวน้อย*ธาตุจำลอง เสมือนมิ่ง

ขวัญแห่งคนยากลี้ ถิ่นไร้ไกลเรือน

เหลียวหลังลิบลิบเร้น ธารไหล

ยิ่งคิดยิ่งภูมิใจ ชาติเชื้อ

ลำพูนผลักยองไกล เกินฝั่ง

สำนึกผ่านเลือดเนื้อ หนึ่งน้ำชาติพันธุ์.

คำอธิบาย

ไตเมิงยอง* หมายถึงคนเมืองยอง เป็นคำที่ชาวยองในพม่าขนานนามตัวเอง

ม่าน* ชาวล้านนาเรียกพม่าว่าม่าน เรียกมอญว่าเม็ง เรียกชาวมอญ-พม่าโดยรวมว่า ระเม็งระม่าน

กาวิละ* ปฐมกษัตริย์แห่งเชียงใหม่ยุคกอบกู้ล้านนาคืนจากพม่า ยกทัพขึ้นไปเกณฑ์ชาวไตลื้อจากเมืองยองมาหมื่นกว่าชีวิตในปี พ.ศ.๒๓๔๘ เพื่อมากอบกู้ลำพูนให้พ้นสภาพเมืองร้าง

ไตลื้อ*หรือไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในบริเวณสิบสองปันนา (ปัจจุบันกระจายอยู่ในจีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม) มีวัฒนธรรมประเพณีคล้ายคลึงกับชาวล้านนา แต่มีรายละเอียดหลายอย่างที่แตกต่างกัน ชาติพันธุ์ไตลื้อเมื่ออพยพมาสู่เมืองไทยถูกขนานนามใหม่ตามชื่อแม่น้ำสายต่างๆ ของชนกลุ่มย่อย ได้แก่ ชาวยองหรือไตยอง เพราะมาจากแม่น้ำยอง ชาวเขินหรือไตเขิน เพราะมาจากแม่น้ำเขิน ส่วนพวกที่มาจากแม่น้ำลื้อ เมืองเชียงรุ่ง และเมืองอื่นๆ จะยังคงถูกเรียกว่าไตลื้อ

เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง* เป็นคำเปรียบเทียบการเกณฑ์ไพร่พลมาสร้างเมืองว่าเสมือนการเก็บผักใส่ตะกร้า

ยกดอก* ศัพท์เฉพาะของกระบวนการผลิตลวดลายบนผ้าทอ มีทั้งผ้าไหมยกดอกและผ้าฝ้ายยกดอก เป็นลวดลายที่นิยมในหมู่คนยองลำพูน

มหิยังคณ์*มหิยังคณะ หรือมเหยงคณ์ เป็นชื่อเรียกเมืองยองสมัยก่อนด้วยภาษาบาลีอย่างเป็นทางการ ดังเช่นเมืองลำพูนเคยมีชื่อว่าหริภุญไชย

ชินธาตุเจ้าจอมยอง* หมายถึงพระมหาธาตุจอมยอง สถูปสีทองตั้งเป็นศรีสง่าอยู่กลางเมืองยองในพม่า

ฉางข้าวน้อย* ชาวยองในลำพูนได้จำลองรูปแบบของพระมหาธาตุจอมยอง มาสร้างไว้ที่วัดฉางข้าวน้อยเหนือ อำเภอป่าซาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น